Soft Power ตอนที่ 1 รู้จักไทย Soft Power

EP.1 รู้จักไทยซอฟต์พาวเวอร์ 

โดย อาจารย์จิรฐา อัคนิทัต

หากจะกล่าวถึงเรื่อง Soft power นั้น ผู้เขียนได้เห็นข่าวการเปิดตัว  คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ ภูเก็ตและพังงา 2565‘ (The MICHELIN Guide Bangkok, Phra Nakhon Si Ayutthaya, Chiang Mai, Phuket & Phang-Nga 2022) ประกอบกับกระแสข้าวเหนียวมะม่วงนั้น ทำให้คำว่า Soft Power กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหนึ่ง คำว่า Soft Power หรือ "อำนาจอ่อน" ถูกนิยามมาตั้งแต่ปี 1990 โดย ศจ.โจเซฟ ไนย์ ซึ่งมีความหมายว่า "ความสามารถในการจูงใจเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ" อาจขยายความจากแหล่งที่มาได้ 3 ประการดังนี้

    1. วัฒนธรรม (culture) ถ้าวัฒนธรรมของประเทศหนึ่งมีความสอดคล้องกับผลประโยชน์และค่านิยมของประเทศอื่นๆ โอกาสที่วัฒนธรรมดังกล่าวจะกลายเป็น soft power ของประเทศนั้นก็จะมีมากขึ้น ช่องทางที่ทำให้วัฒนธรรมของประเทศหนึ่งเป็นที่รู้จักในประเทศอื่นๆ นั้นมีมากมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการค้า การเยี่ยมเยือน การติดต่อสื่อสาร และการแลกเปลี่ยน

    2. ค่านิยมทางการเมือง (political values) ถ้าประเทศดังกล่าวมีค่านิยมทางการเมืองที่สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ soft power ของประเทศนั้นจะเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันถ้าค่านิยมของประเทศดังกล่าวขัดกับค่านิยมของประเทศอื่นๆ อย่างชัดเจน soft power ของประเทศนั้นก็จะลดลง ตัวอย่างเช่น การที่สหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1950 ยังคงมีการแบ่งแยกสีผิว (racial segregation) ทำให้ soft power ของสหรัฐอเมริกาในทวีปแอฟริกานั้นมีน้อย เป็นต้น

    3. นโยบายต่างประเทศ (foreign policies) ถ้าประเทศหนึ่งดำเนินนโยบายที่หน้าไหว้หลังหลอก (hypocritical) ก้าวร้าว และไม่แยแสต่อท่าทีของประเทศอื่นๆ โอกาสที่จะสร้าง soft power จะมีน้อย ดังเช่นกรณีของสหรัฐอเมริกาที่บุกยึดอิรักใน ค.ศ. 2003 โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของประเทศอื่นๆ เป็นต้น แต่ถ้าประเทศดังกล่าวมีแนวนโยบายต่างประเทศที่รักสันติภาพและเคารพในสิทธิมนุษยชน โอกาสที่จะสร้าง soft power ให้เกิดขึ้นจะมีมาก

ในด้านนักวิชาการก็คงมีการตีความคำนี้แตกต่างกันไป ทั้งแตกต่างเชิงยุคสมัย สภาพแวดล้อม ตามกาลเวลาที่เปลี่ยน ปัจจุบัน Brand Finance เป็นผู้จัดอันดับ Global Soft Power Index ในทุกปี มีคะแนนเต็มอยู่ที่ 100 คะแนน แบ่งเป็น

  • กิตติศัพท์: 10 คะแนน
  • อิทธิพล: 10 คะแนน
  • ชื่อเสียงของประเทศ: 30 คะแนน
  • 7 Soft Power Pillars: 30 คะแนน
  • การตอบสนองต่อ COVID-19: 20 คะแนน

 

หลักการ 7 soft power pillars เป็นการวัดประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ของประเทศ ประกอบไปด้วย

  1. ธุรกิจและการค้า

  2. การบริหารงานของรัฐบาล

  3. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

  4. วัฒนธรรม

  5. การสื่อสาร

  6. การศึกษาและวิทยาศาสตร์

  7. คุณภาพชีวิตผู้คน

 

การดำเนินนโยบายด้าน Soft Power ของไทยมีการสนับสนุนต่อเนื่อง ทั้งในด้าน Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จัก มีการดำเนินงานผ่านหน่วยงานของรัฐทำงานร่วมกับภาคเอกชน ร่วมกันส่งเสริม “ตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม”ครอบคลุมทั้งผู้ผลิต ศิลปิน บุคลากรเบื้องหลัง เพื่อผลักดันให้ Soft Power เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หนังสือคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ ภูเก็ตและพังงา 2565’ เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดัน Soft Power ด้านอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกผ่านการดำเนินงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการโดยใช้งบประมาณกว่า 143.5 ล้านบาท ประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับมิชลิน เพื่อสำรวจและจัดทำคู่มือร้านอาหาร ที่พัก และสถานที่ท่องเที่ยว ในโครงการเดอะมิชลินไกด์ไทยแลนด์(The Michelin Guide Thailand) ระหว่างปี 2017-2021 โดยฉบับแรกคือ มิชลินไกด์ ฉบับกรุงเทพ 2018 (Michelin Guide Bangkok 2018) ด้วยเหตุผลที่ว่ามิชลินสตาร์ (Michelin Star) คือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงมาตรฐานร้านอาหารที่มีคุณภาพยอดเยี่ยม เกิดจากความคิดของสองพี่น้อง Edouardและ Andre Michelin เจ้าของบริษัทมิชลิน ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ของโลก มีความคิดอยากให้คนใช้รถยนต์กันมากขึ้น เลยทำหนังสือมิชลินไกด์ (Michelin Guide) ขึ้นมา เพื่อแนะนำและให้ดาวกับร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และโรงแรม โดยเริ่มตีพิมพ์ที่ประเทศฝรั่งเศสครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1900 ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานที่มีมายาวนานกว่า 100 ปี และมีความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วโลก ผลที่ได้รับนอกจากผลกระทบทางตรงคือ การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานระดับโลก ซึ่งจะทำสร้างรายได้ใน GDP ของประเทศแล้วนั้น ผลกระทบทางอ้อมคือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มปลูก ผู้ผลิต เชฟ บุคลากรที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้สินค้ามีมาตรฐาน ผ่านการพัฒนาฝีมือและอัตลักษณ์ความเป็นไทยให้โดดเด่นในมาตรฐานระดับโลกได้

 

นอกจากนี้การส่งเสริม Soft Power ผ่านกระทรวงวัฒนธรรมที่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยปัจจุบันกระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกับองค์การ UNESCO มาอย่างต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ปี 2561 มาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันได้ให้ความสำคัญ แบ่งเป็น 6 ด้าน ขึ้นทะเบียนแล้ว 305 รายการ ได้แก่

  1. ศิลปะการแสดง 149 รายการ

  2. งานช่างฝีมือดั้งเดิม 43 รายการ

  3. วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา 56 รายการ

  4. กีฬาภูมิปัญญาไทย 14 รายการ

  5. แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล 21 รายการ

  6. ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล 22 รายการ

 

ในการนี้มีการมีการขึ้นทะเบียนอาหาร 14 รายการ ได้แก่ แกงเขียวหวาน กระยาสารท ขนมเบื้อง ข้าวยำ ข้าวหลาม ต้มยำกุ้ง น้ำปลาไทย น้ำพริก ปลาร้าปลาแดก ผัดไทย สำรับอาหารไทย ส้มตำ อาหารบาบ๋า แกงเผ็ด หากจะมีข้าวเหนียวมะม่วงเป็นอีกรายการหนึ่งในการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนั้น ก็มีความเป็นไปได้หากถูกต้องตามหลักการประเมินของการเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมขององค์การ UNESCO

 

ที่มาข้อมูล