จากนโยบายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการขับเคลื่อนการพัฒนา เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) มาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดน ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางการขนส่ง การถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ การใช้แรงงานต่างด้าว การให้บริการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค รวมทั้ง เพื่อสร้างประโยชน์จากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC) โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 12 แห่ง ครอบคลุม 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดสระแก้ว จังหวัดตราด จังหวัดสงขลา จังหวัดเชียงราย จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม และจังหวัดนราธิวาสซึ่งมูลค่าการค้าชายแดนของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด ในปี 2557 มีมูลค่าสูงถึง 968,515 ล้านบาท หรือร้อยละ 98 ของการค้าชายแดนรวมทั้งประเทศ
ทั้งนี้ ในการพัฒนาและขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว การสร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ถือเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่จะใช้เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถใช้เป็นกลไกสนับสนุนและเชื่อมโยงกับเครือข่ายการผลิตของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาและส่งเสริม SMEs และมีหน่วยงานในพื้นที่ที่ถูกกำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ด้วย จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริม SMEs ในพื้นที่ให้สามารถรองรับการเติบโตและพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ขึ้น โดยมุ่งหวังว่าการดำเนินการตามแผนงานดังกล่าว จะเป็นการสนับสนุนให้ SMEs ได้ใช้โอกาสและประโยชน์จากนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้ SMEs สามารถพัฒนาศักยภาพองค์กรธุรกิจ ผู้บริหาร และบุคลากร อันจะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs รวมถึงสามารถเชื่อมโยงเข้ากับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศที่จะมาลงทุนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาองค์ความรู้และการใช้ประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศให้เกิดการค้าและการลงทุนร่วมกัน
กลุ่มเป้าหมาย
1.วิสาหกิจที่อยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
2.วิสาหกิจที่สนใจการค้าชายแดนทั้งส่วนกลางและภูมิภาค
สาขาเป้าหมาย
ทุกสาขาอุตสาหกรรมที่สนใจและมีศักยภาพตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
พื้นที่ดำเนินการ ตามประกาศประธานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ
รายชื่อสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ
- บริษัท ข้าวธรรมชาติ จำกัด
- บริษัท ดิ โอน ดีไซน์ จำกัด
- บริษัท นธร การ์เม้นท์ จำกัด
- บริษัท ศิริวานิช (เอสแอนด์ดับเบิ้ลยู) จำกัด
- บริษัท ธนกฤติ เอ็น เอส อินเตอร์เทรด จำกัด
- บริษัท มุกดา มาร์เก็ต อิมพอร์ท เอ็กซ์พอร์ท จำกัด
- ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุญปัญญาการ์เม้นท์
- โรงไฟฟ้าขยะชุมชนแม่กุ
- โรงงานพัชรินทร์
- ร้านผ้าทอสายทอง
- ร้านปฐมเพชร
- ร้านบีบี ค้าเจริญ
จัดโดย : ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับบริษัท ไชนิ่ง คอนซัลท์ จำกัด